วันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

แรงระหว่างอนุภาคในปัจจุบันนักฟิสิกส์ได้ตั้งทฤษฎีที่เรียกว่า The Standard Model ขึ้นเพื่ออธิบายลักษณะของอนุภาคและปฏิสัมพันธ์ของอนุภาคเหล่านั้นในรูปแบบอนุภาคมูลฐาน ( Fundamental particles ) และแรงมูลฐาน (Fundamental Forces ) โดยแบ่งอนุภาคมูลฐานได้ 2 ชนิด คือ1. อนุภาคสสาร ( Matter particles ) ได้แก่1.1 ควาร์ก ( Quarks ) เป็นอนุภาคที่มีประจุไฟฟ้าและสมบัติของการปั่นหมุน (Spin) แตกต่างกันเป็น 6 ลักษณะ คือ up , down, strange, charm, top และ bottom1.2 เลปตรอน ( Leptons ) อนุภาคชนิดนี้จะมีขนาดเล็กกว่าอนุภาคที่ได้จากการรวมตัวของควาร์ก แบ่งได้เป็น 6 ชนิด คือ อิเล็กตรอน ( Electron ) มิวออน ( Muon ) เทา ( tau ) อิเล็กตรอน นิวตริโน( Electron neutrino ) มิวออน นิวตริโน( Muon neutrino ) และ เทา นิวตริโน ( tau neutrino )2. อนุภาคนำพาแรง ( Force carrier particles ) โดยปกติแรงคือปริมาณหรือสิ่งที่กระทำต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วทำให้สิ่งนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น การใช้เท้าเตะลูกบอล ทำให้ลูกบอลกระดอนออกไป เป็นต้น ซึ่งการออกแรงกระทำในลักษณะนี้จะต้องมีการสัมผัสของวัตถุหนึ่งไปยังอีกวัตถุหนึ่งเสมอแต่ในธรรมชาติ แม้วัตถุนั้นจะไม่ได้สัมผัสกัน ก็มีแรงเกิดขึ้นระหว่างวัตถุนั้น เช่น แรงดึงดูดของโลก แรงดึงดูดของแม่เหล็กต่างขั้ว และแรงผลักของขั้วแม่เหล็กขั้วชนิดเดียวกัน เป็นต้นแรงที่เกิดขึ้นนี้เกิดจากการแลกเปลี่ยนอนุภาคที่ไม่สามารถมองเห็นได้ที่เรียกว่า อนุภาคนำพาแรงตามทฤษฎีกล่าวไว้ว่า ขณะที่ปล่อยอนุภาคที่นำพาแรง อิเล็กตรอนหรือควาร์ก จะเกิดการสะท้อนกลับ ทำให้ระดับความเร็วของอนุภาคนี้เปลี่ยนแปลงไป เมื่ออนุภาคที่นำพาแรงไปชนเข้ากับอนุภาคสสารตัวอื่นๆ ก็จะถูกดูดซับเข้าไป การแลกเปลี่ยนอนุภาคที่นำพาแรงเกิดขึ้นได้อย่างไม่จำกัดปริมาณ อย่างไรก็ตาม ถ้าหากอนุภาคนำพาแรงมีมวลมากจะไม่สามารถนำพาแรงไปในระยะไกลๆได้ จึงมีขอบเขตในแง่ของระยะทาง อนุภาคที่นำพาแรงซึ่งเกิดจากอนุภาคสสารอาจเรียกได้ว่า อนุภาคเสมือน ( Virtual particle ) เพราะไม่สามารถตรวจจับได้โดยตรงด้วยเครื่องตรวจจับอนุภาค แต่จะสามารถตรวจสอบการมีอยู่ของอนุภาคนี้ได้ด้วยการตรวจวัดปฏิกิริยาหรือแรงที่สร้างขึ้นได้ แต่ในสภาพแวดล้อมบางลักษณะสามารถตรวจจับอนุภาคเหล่านี้ได้โดยตรงตามที่บางครั้งเรียกอนุภาคเหล่านี้ว่า คลื่น เช่นคลื่นแสง เป็นต้นอนุภาคนำพาแรง มี 4 ชนิด คือ1. กราวิตอน ( Graviton ) 2. โฟตอน ( Photon )3. โบซอน ( Boson ) 4. กลูออน ( Gluon ) จากอนุภาคนำพาแรง 4 ชนิด จึงสามารถจำแนกแรงมูลฐานตามธรรมชาติได้ 4 ชนิด ดังนี้1. แรงโน้มถ่วง ( Gravitation force ) หรือ แรงดึงดูดระหว่างมวลแรงชนิดนี้มีกำลังอ่อนที่สุด แต่เดินทางไปได้ไกลที่สุด อนุภาคทุกตัวจะได้รับแรงนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของมวลและพลังงาน ตัวอย่างเช่น แรงดึงดูดระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ เป็นต้น แรงโน้มถ่วงนี้เชื่อกันว่าการนำพาโดยอนุภาคนำพาแรง คือ กราวิตอน ซึ่งไม่มีมวล จึงสามารถนำพาแรงไปไกลๆได้2. แรงแม่เหล็กไฟฟ้า ( Electromagnetic force )จะทำปฏิกิริยากับอนุภาคที่มีประจุไฟฟ้า เช่น อิเล็กตรอน และควาร์ก แต่ไม่ทำปฏิกิริยากับอนุภาคที่ไม่มีประจุไฟฟ้า เช่น กราวิตอน แรงแม่เหล็กไฟฟ้ามีกำลังสูงกว่าแรงโน้มถ่วงมาก ลักษณะของแรงที่เกิดขึ้นจะขึ้นอยู่กับชนิดของประจุไฟฟ้า ( บวก/ลบ ) และชนิดของขั้วแม่เหล็ก ( ขั้วเหนือ / ขั้วใต้ ) แรงแม่เหล็กไฟฟ้าเกิดจากการแลกเปลี่ยนอนุภาคนำพาแรง คือ โฟตอน ซึ่งไม่มีมวล จึงสามารถนำพาแรงไปได้ไกลๆ เช่นเดียวกับแรงโน้มถ่วงเมื่อพิจารณาแรงแม่เหล็กไฟฟ้าระหว่างวัตถุขนาดใหญ่ เช่น โลกหรือดวงอาทิตย์ จะมีจำนวนประจุไฟฟ้าบวกและลบจำนวนใกล้เคียงกัน ดังนั้นแรงผลักและแรงดึงดูดจึงลบล้างกันเกือบหมด แต่ในระดับอนุภาค เช่นอะตอมและโมเลกุล เป็นต้น แรงแม่เหล็กไฟฟ้าจะมีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้น3. แรงนิวเคลียร์ชนิดอ่อน ( Weak nuclear force )แรงชนิดนี้เกี่ยวข้องกับการสลายตัวของอนุภาคที่มีสถานะไม่คงที่ ที่เรียกว่าการแผ่กัมมันตภาพรังสี เกิดจากการนำพาแรงของอนุภาคที่เรียกว่า โบซอน ซึ่งมี 3 ชนิด คือ ดับเบิลยูพลัส ( W+ ) ดับเบิลยูไมนัส ( W- ) และซีนอท ( Z0 ) โบซอนมีมวลมากจึงนำพาแรงได้ไม่ไกลนัก4. แรงนิวเคลียร์แบบเข้ม ( Strong nuclear force )ทำหน้าที่ยึดเหนี่ยวควาร์กภายในโปรตอนและนิวตรอน และยึดจับโปรตอนและนิวตรอนภายในนิวเคลียสของอะตอม อนุภาคที่นำพาแรงชนิดนี้ คือ กลูออน แรงนี้ใช้ในการอธิบายการจับตัวของกลุ่มของโปรตอนซึ่งมีประจุชนิดเดียวกัน แต่สามารถจับกลุ่มกันได้ภายในนิวเคลียส และใช้ในการอธิบายพลังงานที่เกิดขึ้นในปฏิกิริยาที่มีการสลายนิวเคลียส ที่เรียกว่า ปฏิกิริยานิวเคลียร์